Last updated: 11 เม.ย 2563 |
ช่วงเครียดๆแบบนี้เราอาจจะมีความกังวลว่าจะเข้าหานายอย่างไรไม่ให้พลาด ถ้านายรู้สึกดีเราก็โล่งอก แต่ถ้าไม่ถูกชะตาขึ้นมาหล่ะเราคงจะหนาวๆร้อนๆเป็นแน่ ช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานไม่ควรเสี่ยงโดยไม่จำเป็น
ทำงานให้เจ้านายรัก
การสื่อสารให้ถูกใจเป็นเรื่องไม่ยากและฝึกได้ ความสำคัญอยู่ที่เราดูออกไหมว่าเจ้านายเป็นคนอย่างไร ในบทความนี้เราจะโฟกัสเฉพาะช่วงวิกฤติ เจ้านายบางคนอาจจะมีพฤติกรรมเหมือนเดิม บางคนอาจจะแตกต่างออกไป เราจะพิจารณาในมุมของระยะห่างของอำนาจ
เราเท่าเทียมกัน
คนในกลุ่มนี้มีความเท่าเทียมกัน ตำแหน่งที่แตกต่างกันไม่ได้ทำให้เราห่างไกลกัน เจ้านายกลุ่มนี้มักจะชอบฟังความเห็นของคนในทีม ทำตัวให้เข้าถึงได้ง่าย ถ้าลูกน้องจะมีความเห็นต่างก็รับฟังได้ เพราะเป็นทีมเดียวกันต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันทั้งความรู้ความสามารถและประสบการณ์
ถ้ามีนายแบบนี้ การสื่อสารของเราในแบบ “ปรึกษา” ก็จะเป็นที่ถูกใจมาก เราสามารถนำเสนอหรือบอกความคิดเห็นของเราได้ ไม่จำเป็นต้องเออ-ออ เห็นด้วยตลอดเวลา หากมีประเด็นที่เราคิดว่าน่าจะต้องบอกให้รู้ก็ควรเข้าหาทันทีโดยไม่ต้องรอให้เกิดปัญหา เจ้านายบางคนก็จะชอบใช้คำถามแบบโค้ชกับเราด้วย
ส่วนมากเจ้านายแบบนี้จะไม่ได้เน้นเรื่องความอาวุโสมากนัก คือไม่ใช่ว่าคนที่อายุน้อยกว่าต้องยอมหรือยอมรับคนอาวุโสมากกว่าเสมอ ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน
ในการประชุมแต่ละครั้งไม่ว่าจะเป็นแบบปกติหรือคอนคอล (ศัพท์ฮิตขณะนี้ มาจากคำว่า คอนเฟอเรนซ์คอล) เราก็ควรมีเนื้อหามานำเสนอ หรือมีความคิดเห็นจากประสบการณ์ของเราด้วย การมีส่วนร่วมของเราเป็นการแสดงความเป็นส่วนหนึ่งของทีม
ดังนั้นถ้าเราทำตัวเจี๋ยมเจี้ยม รอฟังคำสั่งอย่างเดียวคงไม่ถูกใจเจ้านายแบบนี้แน่ๆ
เราแตกต่างกัน
กลุ่มนี้เป็นขั้วตรงข้ามกับกลุ่มแรก เจ้านายคือเจ้านาย เราก็คือลูกน้อง เราไม่เท่ากันทั้งในตำแหน่งและสถานะ ในกรณีสุดโต่งเจ้านายจะเป็นคนตัดสินใจเอง ออกคำสั่งและให้เราทำตามแบบที่สั่งเท่านั้น ไม่ต้องการความคิดเห็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งความไม่เห็นด้วยหรือเหตุผลที่ไม่สนับสนุนคำสั่งนั้นๆ
เจ้านายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด เด็ดขาด ซึ่งลูกน้องอาจจะมองว่าเป็นคนดุ เด็ดขาด น่ากลัว หรืออาจจะรู้สึกว่าเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพ น่าเกรงขาม ก็ได้ คืออาจจะรู้สึกทั้งไม่ดีหรือดีก็ได้ แต่นายกับเรามีความห่างกันมาก
คนกลุ่มนี้ยังให้ความสำคัญกับอาวุโสด้วย คนในสถานะเท่ากันแต่มีอายุมากกว่าย่อมได้รับความเคารพมากกว่าหรือมีอำนาจมากกว่า
ลักษณะนี้คล้ายกับการปกครองมากกว่าการบริหาร คล้ายระบบราชการมากกว่าองค์กรเอกชนสมัยใหม่ การให้ความเห็นโดยไม่มีใครขอเหมือนกับการท้าทายอำนาจ
ดังนั้นการเข้าหาจะทำได้ต่อเมื่อมีการเรียกหาเรา การทำตามคำสั่งให้ได้ผลลัพธ์จะทำให้เจ้านายถูกใจ การรับฟังโดยไม่คัดค้านถือว่าให้ความเคารพ ดังนั้นในที่ประชุมสิ่งที่ควรทำคือ “ครับ” “เห็นด้วยค่ะ” “ไม่มีปัญหาครับ” “ทำได้ค่ะ” คือสิ่งที่เจ้านายอยากได้ยิน
ดีลกับเจ้านาย
การเข้าหาและทำงานด้วยกับคนแต่ละแบบมีความแตกต่างกัน แต่ก็ไม่มีวิธีที่ถูกใจใช่เลยหรือต้องเป็นแบบนี้ตายตัวเสมอไป พูดได้ว่าเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่พวกเราคนทำงานต้องประเมินและทดลองใช้จนกระทั่งปรับจูนในระดับที่พอดีกับเจ้านายแต่ละคนได้ การสื่อสารกันและทำงานร่วมกันทำให้เกิดภาพจำและความประทับใจต่อกัน เราอยากเป็นคนที่เจ้านายถูกใจน้อยและไม่ชอบหน้าหรือจะเป็นแบบถูกใจมากและอยากคุยด้วย เราเลือกได้ค่ะ
=====
ดร.ดไนยา ตั้งอุทัยสุข ผู้แต่งหนังสือ สื่อสารให้ได้ใจ ไขความลับสมองคน
=====
ติดตาม อัพเดตแนวคิด ฟัง อ่าน ประสบการณ์ด้านการพัฒนาผู้นำ การโค้ช และการใช้ Pattern Scanner
ได้ทั้งทาง Podcast, YouTube, Website, Social Media ดังนี้ค่ะ
Podbean: https://excellenceresources.podbean.com/
Spotify: https://open.spotify.com/show/2RlmdQGUBfWy6hpu29YisG
Youtube: Excellence Resources’s Channel
Facebook fanpage : www.facebook.com/ExcellenceResources/
Website: https://www.excellenceresources.com/
Website: https://www.thepatternscanner.com/
Line@ExcellenceResource
21 พ.ค. 2563
4 เม.ย 2565
15 มิ.ย. 2565
23 ก.ย. 2564