Last updated: 12 เม.ย 2563 |
ในที่ทำงานจะมีบางคนที่รอคำสั่ง รอคำแนะนำ และลงมือทำตามคำบอกกล่าวนั้น แต่ก็จะมีคนอีกแบบที่ทำทุกอย่างในแบบที่ไม่ได้บอก คนเราช่างต่างกันแต่เมื่อมาอยู่รวมกันจะโน้มน้าวใจอย่างไรให้ได้ในแบบที่เราต้องการ
การโน้มน้าวใจ
ในบทความก่อนหน้านี้ เราพูดถึงว่าคนเรามี Pattern Scanner รูปแบบความคิดรูปแบบพฤติกรรมที่แตกต่างกัน การสื่อสารด้วยภาษารูปแบบหนึ่งจะเข้าไปในความคิด เห็นด้วย หรือคล้อยตามเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ถ้าเราสื่อสารเพียงรูปแบบที่เราถนัด ก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งโอเค ลงมือทำ และอีกกลุ่มที่ไม่โอเค ตัดสินใจไม่ทำตาม
คนกลุ่ม Internal
คนกลุ่มนี้ดูเผินๆจะมีความเป็นเจ้านาย ตามใจตัวเอง เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ใช้หลักการของตัวเองในการตัดสินใจ อ้างอิงจากความคิดหรือมาตรฐานของตัวเอง สิ่งที่คนอื่นบอกก็รับไว้เป็นข้อมูลชุดหนึ่งเท่านั้นไม่ได้ถือว่าต้องทำตาม เขาใช้ความคิดและแรงจูงใจจากภายในตัวเองเป็นหลัก
คนกลุ่ม Internal จึงมีความยากในการรับฟังหรือยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น แต่หากเรามีความเข้าใจ Pattern ในสมองของเขาเราก็สามารถออกแบบการสื่อสารของเราให้เขารับฟังเราและคล้อยตามเราได้
การโน้มน้าวใจคน Internal ที่ช่างคิด เขาประมวลผลอยู่ภายในหัวของเขา เราจะพูดว่า
“ผมมีไอเดียสำหรับโครงการนี้ครับ ผมจะเล่าให้ฟังก่อนว่าผมคิดอะไร แล้วจะขอฟังจากคุณว่าคุณคิดเห็นอย่างไร”
การพูดแบบนี้เปิดโอกาสให้ตัวเราได้พูดและเขาเปิดใจรับฟัง โดยเราไม่ตัดโอกาสที่เขาจะแสดงความเห็น
“ก่อนที่เราจะไปคุยกับลูกค้าเรื่องนี้ ผมขอแนะนำอะไรสักหน่อย แน่นอนคุณเป็นคนตัดสินเองว่าจะทำแบบที่ผมแนะนำหรือเปล่า”
หรืออาจจะเพิ่มการใช้คำถามชวนคิดแบบโค้ช “คุณอาจจะรู้อยู่แล้วหล่ะว่าแอพพลิเคชั่นนี้ได้รับความนิยมมาก ผมอยากชวนคุณพิจารณาว่า...”
จะเห็นว่าการสื่อสารกับคนที่มีมาตรฐานในการตัดสินเป็นของตัวเอง เราต้องเชิญชวนให้เขาเป็นคนตัดสินใจเองเขาจึงจะรับฟัง และเปิดโอกาสให้เราโน้มน้าวใจเขาได้
คนกลุ่ม External
กลุ่มนี้เป็นขั้วตรงข้าม เขาต้องการคำแนะนำ ความเห็นของผู้อื่น หลักฐานหรือผลลัพธ์เดิม และจะนำข้อมูลเหล่านั้นไปช่วยตัดสินใจ เขาชอบที่จะถามความเห็น ขอฟีดแบคจากคนอื่นเพื่อจะได้รู้ว่าที่ผ่านมานั้นดีหรือไม่ ต้องปรับปรุงอะไรบ้าง คุณลักษณะแบบนี้ทำให้เราคิดว่าเขาถูกโน้มน้าวใจได้ง่าย บอกอะไรเขาก็ทำ สำหรับบางคนอาจจะจริงก็ได้ แต่บางคนก็ยังต้องการข้อมูลอ้างอิงอื่นๆมาเทียบมาตรฐานก่อนตัดสินใจทำอะไร คือเขาจะไม่ใช้ความรู้สึกตัวเองตัดสิน
ถึงแม้ว่าการได้รับฟีดแบคเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเขา แต่การรับฟีดแบคเชิงลบจะทำให้เขาสะเทือนใจมาก การสื่อสารกับเขาจึงยังต้องระมัดระวังอยู่พอสมควร
ตัวอย่างการโน้มน้าวใจคนกลุ่ม External
“ช่วง WFH แบบนี้คุณน่าจะต้องดูแลลูกค้าให้มากขึ้น ถึงแม้จะต้องโทรศัพท์มากหน่อย แต่ก็ทำให้ลูกค้าพึงพอใจได้มาก”
“โครงการ A ที่เรากำลังปั้นอยู่นี้ เป็นที่จับตาของคู่แข่งเราอย่างมากเลยนะ ถ้าทำสำเร็จผมเชื่อว่าคนทั้งอุตสาหกรรมต้องปรบมือให้เราแน่ๆ”
เรายังประยุกต์โค้ชชิ่งเข้าไปได้ด้วยว่า "จากที่ดูข้อมูลในภูมิภาคของเรา ผมเชื่อว่าคุณเห็นแล้วว่าอะไรคือ Best Practice แล้วสำหรับประเทศเราหล่ะ คุณคิดว่าจะทำอะไรบ้าง"
จะเห็นว่าการอ้างอิงถึงบุคคลอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีความสำคัญกับเขาจะทำให้เราโน้มน้าวเขาได้ดีขึ้น ทำให้เขากระตือรือร้นที่จะทำเต็มที่
การโน้มน้าวใจให้ได้งาน
การสื่อสารไม่ว่าจะอยู่ต่อหน้ากัน คุยการทางโทรศัพท์ หรือการเขียนข้อความถึงกัน ก็ยังต้องออกแบบให้สามารถสื่อเข้าไปให้ถึงรูปแบบความคิด รูปแบบพฤติกรรม เพื่อให้ถูกโน้มน้าวจนเขาลงมือทำในสิ่งที่พูดคุยกัน อย่าลืมว่าการสื่อสารเพียงแบบที่เราถนัด ก็จะทำให้คนแบบเดียวกับเราเข้าใจเท่านั้น หากต้องการสื่อสารให้ถึงความคิดและลงมือทำทุกคนก็ต้องสื่อสารได้ทั้งสองรูปแบบ การโน้มน้าวใจจึงต้องทำอย่างถูกจริตกับผู้ฟังด้วย
=====
ดร.ดไนยา ตั้งอุทัยสุข ผู้แต่งหนังสือ สื่อสารให้ได้ใจ ไขความลับสมองคน
=====
ติดตาม อัพเดตแนวคิด ฟัง อ่าน ประสบการณ์ด้านการพัฒนาผู้นำ การโค้ช และการใช้ Pattern Scanner
ได้ทั้งทาง Podcast, YouTube, Website, Social Media ดังนี้ค่ะ
Podbean: https://excellenceresources.podbean.com/
Youtube: Excellence Resources’s Channel
Facebook fanpage : www.facebook.com/ExcellenceResources/
Website: https://www.excellenceresources.com/
Website: https://www.thepatternscanner.com/
Line@ExcellenceResource
23 ก.ย. 2564
4 เม.ย 2565
15 มิ.ย. 2565
21 พ.ค. 2563